ผลงาน ดร.อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

g_3_19

ผลงาน ศาลาศูนย์ธรรมจักรวาล ประเภท งานไม้แกะสลัก สถานที่ตั้งงาน ชั้น 26 อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ความเป็นมา

เริ่มต้นจากคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ อยากให้อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สร้างงานศิลปกรรมเป็นรูปศาลาเอาไว้ในตึกอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ เพราะคุณธารินทร์ไปเห็นรูปแบบมาจากอาคารในสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นั่นเขาได้จำลองวิหารคาร์นัคของประเทศอียิปต์ไว้ในอาคาร ในตอนแรกศิลปินคิดจะจำลองปราสาทหินพนมรุ้งมาไว้ แต่เห็นว่าจะกลายเป็นศิลปะขอมเกินไป สุดท้ายจึงสรุปว่าควรเป็นศิลปกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความคิดรวบยอด (concept) ของศิลปะไทย ซึ่งศิลปินเห็นว่าน่าจะประกอบไปด้วยรูปแบบศิลปะที่แสดงถึงจิตวิญญาณของเชียงแสน ศรีสัชนาลัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ โดยจำลองรูปแบบศิลปะสมัยต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อแสดงสุนทรียภาพโดยรวมของความเป็นไทย รวมถึงเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เพื่อให้ได้ศาลาที่เป็นงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย และยังคงความงามเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

โครงสร้างและความหมาย

เสา 4 ต้น เป็นตัวแทนของทวีปทั้ง 4 ที่ล้อมรอบโลกอยู่ตามปกีรณัมโบราณของอินเดีย โดยเสาทิศเหนือแทนอุดรทวีป ทิศใต้แทนอมรโคยานทวีป ทิศตะวันตกแทนชมพูทวีป ทิศตะวันออกแทนปุรพวิเพ ซึ่งเสาทั้ง 4 ต้น อยู่บนอ่างสีดำ ซึ่งหมายถึงตัวแทนของโลก , จักรวาล ความคิดนี้เป็นแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนโบราณที่มีสันเขาพระสุเมรุอยู่ ศาลานั้นแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นที่ 3 แบ่งย่อย ออกเป็น 2 ชั้นอีกด้วย รวมเป็น 4 ชั้น แทนความหมายมหาสติปัถฐาน 4 คือ กายานุปฏิปทา, เวทนานุปฏิปทา,จิตตานุปฏิปทา,และ ธรรมานุปฏิปทา ซึ่งเป็นธรรมที่นำไปสู่อริยมรรค หรือความหลุดพ้นทางพุทธศาสนา สำหรับช่อฟ้า,กาแล แทนธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่บริเวณปลายยอดของศาลาจะมี บราลี 8 อัน เปรียบได้กับอริยมรรค (มรรคมีองค์ 8) ซึ่งเป็นสุดยอดของการนำไปสู่การหลุดพ้น ลักษณะศาลาเปลือย เพื่อต้องการให้มองเห็นได้จากทุกทิศ และส่วนประกอบที่พิเศษมากอีกชิ้นหนึ่งคือ หางหงส์ที่ศาลาชั้นที่ 1 เพราะว่าเป็นศูนย์รวมของความคิดในการสร้างศาลาร่วมสมัยนั่นคือ พนัสบดี ซึ่ง เป็นตรีมูรติของ พระศิวะ (ทรงโค) , พระพรหม (ทรงหงส์) และพระนารายณ์ (ทรงครุฑ) โดยเป็นวัวมีเขาปกติแต่มีปีกเป็นหงส์และมีปากเป็นครุฑ

ลักษณะสำคัญ

ลายกนกทั้งหมดจะเป็นลายคมกริช ซึ่งมีเฉพาะที่อยุธยาเท่านั้น ปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ (สมัยพระนเรศวร) อีกประการหนึ่งคือเป็นศิลปกรรมร่วมสมัยตั้งแต่เชียงแสนถึงรัตนโกสินทร์ โดยแต่ละสมัยจะมีตัวแทนแตกต่างกันออกไป ได้แก่ ล้านนา-กาแล , อยุธยา- คมกริช , สุโขทัย-บราลี, คันทวย

ความรู้สึกของศิลปินในการสร้างงานศิลปะ

ต้องการให้ศาลานี้เป็นตัวแทนของ ทวีปทั้ง 4 , ทิศทั้ง 8, พนัสบดี , ธาตุ 4 , อริยสัจ และสุดท้ายคือ อริยมรรค การสร้างสรรค์ผลงานในอาคารแห่งนี้ นับว่าทรงพลัง มีสถาปัตยกรรมที่ดี เป็นกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัย มีผลงานจิตรกรรมประติมากรรมมากมายรวมอยู่ด้วย จึงไม่รู้สึกอะไรที่ผลงานอยู่ในตัวตึก ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีผู้ใดได้ชื่นชมผลงานมากนัก อีกทั้งยังรู้จักตน รู้จักประมาณ และกาลเวลาอยู่แล้วด้วย

ใส่ความเห็น