กรุสำหรับ มีนาคม, 2013

 

        กรุงเทพฯ–21 พ.ค.–อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

           คุณสมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ นายกสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการศิลปะชุด “หลงกรุง” ผลงานของ พีระพล ศรีภคนานนท์ รายได้จากการจัดงานสมทบทุน วัดพระบาทน้ำพุ จัดโดย อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ ณ บริเวณลานนิทรรศการ ชั้น 3 ของโรงแรมฯ เมื่อเร็วๆ นี้

 

             กรุงเทพฯ–29 ต.ค.–มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

                 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555 โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ทำพิธีเปิด ให้บริการ “ห้องสมุดศิลปะเพื่อความรู้สู่ชุมชน” ณ อาคารปฏิบัติการ โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ ห้อง 26.35 โดยมี นายวัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ คณาจารย์ นักศึกษาโปรแกรมวิชา ทัศนศิลป์ รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน

             สำหรับ “ห้องสมุดศิลปะเพื่อความรู้สู่ชุมชน” ดังกล่าวจัดสร้างขึ้น ด้วยเงินรายได้จากการจัดประมูลผลงานศิลปกรรม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2555 ณ หอศิลป์จิตนาการ ทั้งนี้ “ห้องสมุดศิลปะเพื่อความรู้สู่ชุมชน” เป็นแหล่งรวบรวมอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ในเนื้อหาและรายวิชาทัศนศิลป์ สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการเรียน การสอน การวิจัย ตลอดจนรองรับการขยายตัวทางด้านวิชาการ ด้านทัศนศิลป์ การพัฒนาการและขยายงานระบบห้องสมุดอย่างครบ วงจรทั้งในส่วนของงานบริการแก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ในศาสตร์สาขาวิชาดังกล่าว รวมทั้งส่งเสริมบริการและเผยแพร่ศาสตร์ ทางด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ผู้ที่สนใจหรือผู้ใช้บริการทั้งภายใน มหาวิทยาลัยและชุมชน ให้เข้าใจซาบซึ้งในศิลปะและวัฒนธรรม

“ภายในห้องสมุดศิลปะดังกล่าว ตามเป้าหมายจะประกอบ ไปด้วย หนังสือศิลปะภาคภาษาไทย 1,000 เล่ม หนังสือศิลปะภาคภาษา ต่างประเทศ 1,800 เล่ม วารสารภาษาไทย 125 รายชื่อ วารสารภาษา ต่างประเทศ 32 รายชื่อ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับศาสตร์เฉพาะ สาขาวิชาทัศนศิลป์”

นอกจากนี้ทางโปรแกรมวิชาฯ มีแผนในการจัดซื้อหนังสือเพิ่มเติม เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ยังขาดแคลน ให้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้อีกด้วย

 

            กรุงเทพฯ–25 ม.ค.–วธ.

               เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖ นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะนานาชาติครั้งที่ ๙ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินแต่ละชาติที่เข้าร่วมแสดง จำนวน ๒๕ ชาติ ที่ได้จากการปฎิบัติงานทางทัศนศิลป์ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ มกราคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยเพาะช่าง โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกนำมาจัดแสดง จำนวน ๒๒๒ ชิ้น ซึ่งนิทรรศการจะเปิดแสดง ระหว่างวันที่ ๒๕ มกราคม ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ หอศิลปเพาะช่าง วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยราชมงคลเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์

         กลับมาตามคำเรียกร้องของลูกศิษย์ลูกหา เมื่อที่บรมครูศิลปะชื่อดังของไทย ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม) และยังเป็น นักวิชาการ และนักคิดสร้างสรรค์ จะมาสอนเทคนิคงานด้านศิลปะให้กับบุคคลทั่วไป ขอเชิญร่วมเวิร์คชอป “นวัตกรรมการลากและระบาย ” กับ อ.อารี สุทธิพันธุ์ ซึ่งจะมาถ่ายทอดงานศิลปะรูปแบบใหม่ของการลากและระบายโดยไม่ใช้พู่กัน ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านศิลปะ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้คนรักและสนใจศิลปะได้สร้างจินตนาการให้สอดคล้องตามธรรมชาติ ของผู้เรียนอย่างมีความสุข ในวันที่ 30 มีนาคม 2556 เวลา 9.00-16.00น. ณ นานมี อาร์ต แกลเลอรี่ สาทร สอบถามเพิ่มเติม 02-648-8000(ใก้ลสถานีรถไฟฟ้าศุรศักดิ์)

               ปฏิเสธไม่ได้ว่ามรดกแห่งภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษไทยส่งต่อให้ลูกหลานนั้นมีคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งจรรโลงสังคมไทยมาช้านาน

               แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนรูปแบบงานศิลป์ก็เปลี่ยนตาม ขนบใหม่เข้ามามีรูปรอยอันชัดเจนมากขึ้น วรรณศิลป์ถูกลดค่าลงให้เป็นศิลปะราคาถูก ทัศนศิลป์ถูกละเลยให้เป็นศิลปะเฉพาะกลุ่มและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ยากทุกทีๆ

แต่นับเป็นนิมิตรหมายดีที่วันนี้มีองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่งในปัจจุบัน ได้จัดโครงการสร้างคุณค่าให้ทั้งสองงานศิลป์ให้กับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยนำเอาศิลปะการประพันธ์มาหลอมรวมกับงานจิตรกรรม จนผสมผสานกันอย่างกลมกลืน-กลมกล่อม

 

-1-

          โครงการ‘จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช’ ก็เป็นอีกโครงหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนการโดยบมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (INTOUCH) จัดโครงการนี้ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อเชิดชูสืบสานความเป็นไทยโดยเฉพาะด้านศิลปะและวรรณกรรม ด้วยหวังกระตุ้นให้เยาวชนไทยรักและภาคภูมิใจในภาษาไทย ส่งเสริมให้เยาวชนใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดสิ่งที่อ่านออกมาเป็นผลงานศิลปะ นำประโยชน์และข้อคิดที่ได้รับจากการอ่านมาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างเหมาะสม

           ในปีที่ 6 กำหนดหัวข้อประกวด คือ ‘ความรักที่มีต่อแม่’ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเพื่อให้เยาวชนได้ร่วมเทิดทูนพระคุณแม่ ชิงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษารวม 1,340,000 บาท โดยรางวัลพิเศษในปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในทุกระดับชั้นและอาจารย์ที่ปรึกษาจะได้ร่วมกิจกรรมทัศนศึกษา ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ประเทศสิงคโปร์

          การประกวดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 -6, ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา โดยให้เยาวชนอ่านหนังสือวรรณกรรมไทย ในหัวข้อ ‘ความรักที่มีต่อแม่’ แล้วใช้จินตนาการถ่ายทอดสิ่งที่อ่านออกมาเป็นภาพวาด

         สำหรับตัวอย่างหนังสือที่มีแนวคิดดังกล่าว เช่น ความสุขของกะทิ, ลูกอีสาน, พระจันทร์สีน้ำเงิน, สี่แผ่นดิน, ใบไม้ที่หายไป, ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก, หน้าต่างบานแรก, ม้าก้านกล้วย, ปุลากง, ลิลิตพระคุณแม่, เด็กหญิงดอกไม้ เด็กชายดวงดาว, ตามหาความฝันและขวัญที่หายไป, สุดยอดนิทานกตัญญู ฯลฯ ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลจะนำมาจำหน่ายการกุศลให้กับผู้ที่สนใจ นำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

        คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่านที่ร่วมตัดสินผลงานในปีนี้ ได้แก่ สายภาษาและวรรณกรรมไทย 2 ท่าน ได้แก่ เสฐียรพงษ์ วรรณปก, และคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) สายทัศนศิลป์ 3 ท่าน ได้แก่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, สังคม ทองมี และปัญญา วิจินธนสาร สายสื่อมวลชน 1 ท่าน ได้แก่ ธวัชชัย สมคง

         อ.สังคม ทองมี ตัวแทนคณะกรรมการกล่าวถึงโครงการนี้ว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ศิลปะสองแขนงมาเชื่อมโยงกัน ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า ผู้บริหารรู้เรื่องวรรณกรรมเยอะ ผมเห็นว่ามันจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมให้คนไทยและเยาวชนสนใจและรักการอ่านมากขึ้นซึ่งมันจะเป็นประโยชน์มาก และบ้านเรายังไม่มีพื้นที่มากพอที่ส่งเสริมศิลปะด้านทัศนศิลป์ ก็เป็นที่มาของโครงการนี้ มันเป็นการเชื่อมศิลปะสองทางที่ชัดเจนทั้งสองอย่าง”

          สำหรับเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแต่ละระดับชั้น ได้แก่ ระดับอุดมศึกษา ผดุงพงษ์ สารุโณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อผลงาน สังข์ทองช่วยแม่, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย วุฒิชัย ด้วงคำ โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง จ.ราชบุรี ชื่อผลงาน แม่ในดวงใจ จากวรรณกรรมเรื่องปลาบู่ทอง, ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด.ญ.กรพินธุ์ อ่ำสกุล โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ชื่อผลงาน ดาวลูกไก่ จากวรรณกรรมเรื่องนิทานแม่ และระดับประถมศึกษาตอนปลาย ด.ญ.อารยา เตชะวงษ์ฉิมพลี โรงเรียนอักษะเทพประสิทธิ์ จ.ชลบุรี ชื่อผลงาน สายใยแห่งความผูกพัน จากวรรณกรรมเรื่องสังข์ทอง

“ผลงานของเยาวชนมีการพัฒนามาก เรื่องทางวรรณกรรมไล่มาตั้งแต่นิทานพื้นบ้าน เราให้หมดถ้าเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำหนด มาจนถึงปีที่ 6 ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นคุณภาพทางด้านศิลปกรรม และอยู่ในระดับที่สูง เพราะได้รับความสนใจจากทั่วประเทศ พื้นที่ได้เปิดกว้างขึ้นมาก” อ.สังคม กล่าวชื่นชม

-2-

ในสังคมยุคนี้ที่กระแสโลกไหลเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ความสนใจศิลปะในคนรุ่นใหม่ถือเป็นเรื่องน่ายินดี หากเป็นความสำเร็จอันเกิดจากงานศิลป์ด้วยแล้ว พื้นที่และโอกาสย่อมเปิดกว้างขึ้นมากดังที่ อ.สังคม บอกไว้

แต่ใช่ว่าความสำเร็จที่ได้เห็นนั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน เพราะเยาวชนคนเก่งเหล่านี้ต้องอ่าน คิด จินตนาการ และสร้างสรรค์ ด้วยพลังกายพลังใจที่มี

ปรุง – ผดุงพงษ์ สารุโณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า ที่เลือกเรื่องสังข์ทองมาถ่ายทอดเป็นภาพวาดเพราะอยู่ในความทรงจำมาตั้งแต่เด็กแล้ว

“แต่ก็มาหาอ่านใหม่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย แล้วรู้สึกว่ามันตรงกับหัวข้อที่เขาให้มา และมีแนวความคิดของมันที่ตรงกัน”

ปรุงเล่าต่อว่าตอนที่อ่านเรื่องสังข์ทองครั้งยังเด็กกับปัจจุบันอรรถรสก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไรนัก เพียงแต่สังข์ทองครั้งเรียนชั้นประถมนั้นเป็นฉบับย่อ เมื่อได้อ่านฉบับเต็มจึงรู้ว่ามีเนื้อหาที่ดีกว่า

ด้าน ดรีม – ด.ญ.อารยา เตชะวงษ์ฉิมพลี จากโรงเรียนอักษะเทพประสิทธิ์ ด้วยความที่เป็นน้องเล็กในโครงการ ดรีมจึงเข้าร่วมประกวดด้วยความรู้สึกอย่างใสบริสุทธิ์เพียงเพราะชอบวาดรูปตั้งแต่เล็กๆ แต่ในที่สุดผลงานของเธอก็ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนปลาย

ดรีมเล่าว่างานของเธอถ่ายทอดจากวรรณกรรมเรื่องสังข์ทองตอนเดียวกับพี่ปรุงอย่างบังเอิญ

“เรื่องสังข์ทองเป็นเรื่องที่หนูชอบตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ พอมีหัวข้อนี้ก็นึกถึงสังข์ทองเป็นอันดับแรก เพราะพระสังข์มีความกตัญญูมาก ถึงเขาจะไม่ค่อยได้ออกมาจากหอยสังข์ แต่เขาก็ช่วยงานบ้านของแม่ได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย”

ด้วยค่าที่ชอบอ่านวรรณกรรมเป็นทุนเดิม ดรีมจึงไม่หนักใจเมื่อทราบว่าต้องนำวรรณกรรมมาวาดเป็นภาพ แต่ความหนักใจกลับไปตกอยู่ที่การวาดเสียแทน

“งานชิ้นนี้หนูวาดหลายครั้ง หนูกลัววาดคนไม่ได้ จึงวาดซ้ำไปซ้ำมา ลองก่อน พอมั่นใจแล้วก็ค่อยวาดจริง”

นอกจากโครงการประกวดครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีของเยาวชนคนเก่งให้มีพื้นที่แสดงความสามารถด้านศิลปะ ทว่าสำหรับดรีม นี่นับเป็นพื้นที่แสดงความรู้สึกที่มีต่อแม่ด้วย

“เป็นความกตัญญูที่เราให้แม่ได้โดยไม่ต้องพูด แสดงออกมาทางการวาดรูป การแสดงความกตัญญูต่อแม่ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ว่าหนูรักแม่ ช่วยแม่ทำงานบ้านก็น่าจะสื่อได้แล้วค่ะ”

-3-

หลังจากได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาแล้ว อีกรางวัลพิเศษที่พวกเขาได้รับและดูจะเป็นรางวัลที่ประเมินค่าไม่ได้ นั่นคือ ‘ประสบการณ์’ จากการศึกษาดูงานเกี่ยวกับศิลปะและวรรณกรรมที่ประเทศสิงคโปร์

ปรุง – ผดุงพงษ์ สารุโณ เล่าว่า ตื่นเต้นมากที่ได้ไปเยือนประเทศสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่ผู้คนสนใจงานศิลปะมากทั้งวรรณศิลป์และทัศนศิลป์ เมื่อไปถึงก็ได้พบเอกอัคราชทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ พูดคุยกันอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง

“ไปสถานทูตก็เจอท่านทูตประจำสิงคโปร์ ท่านทูตใจดีมาก แล้วก็แนะนำผลงานที่เราประกวดให้ท่านฟัง ท่านก็ชอบ เราก็ประทับใจ” ปรุงบอก

หลังจากนั้นเยาวชนคนเก่งได้เยี่ยมชมสถาบัน SOTA หรือ School of The Arts Singapore เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตรศิลปะทุกแขนงอย่างจริงจังในบรรยากาศเงียบสงบเหมาะแก่การสร้างสรรค์งานศิลป์ซึ่งต้องใช้จินตนาการและสมาธิ ณ สถาบัน SOTA นี้ ปรุงยอมรับว่าประทับใจมาก และคิดว่าหากมีที่ประเทศไทยบ้างคงดี

“มันเป็นโรงเรียนที่แปลก ที่สอนศิลปะตั้งแต่มัธยมปลาย หลักสูตรเขาดีนะ ใครชอบศิลปะก็มาเรียน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งวิชาการไปเสียทีเดียว เขาพยายามให้เด็กหาสิ่งที่แปลกใหม่ไปจากศิลปะที่มีเดิมๆ ถ้ายังเป็นเด็กรุ่นนั้นอยู่ก็อยากมานะ แต่ค่าเทอมแพงมาก (หัวเราะ) ที่โรงเรียนเขามีพื้นที่ให้เด็กทำงานศิลปะ ใหญ่พอจะให้เด็กได้ทำ ประเทศเราน่าจะมีบ้าง”

สำหรับน้องดรีมซึ่งกำลังจะก้าวสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น (มัธยม) เธอสนอกสนใจและชื่นชอบแนวคิดต่างๆ ที่ครูอาจารย์สอนลูกศิษย์ตั้งแต่ทฤษฎี ปฏิบัติ และกระบวนการคิด

“ที่โรงเรียน หนูชอบงานปั้น ที่เขาปั้นออกมาสวยมาก ทำเป็นถ้วยน้ำชา หนูไม่เคยปั้น พอเห็นก็รู้สึกอยากปั้น หนูอยากให้มีโรงเรียนแบบนี้ที่ประเทศไทยบ้าง เพราะหนูมาอยู่บ้านเขาแล้วรู้สึกไม่ชิน แต่ประเทศไทยน่าจะสร้างแบบนี้บ้าง ถ้ามีที่บ้านเราหนูก็อยากเรียนค่ะ”

และสถานที่อีกแห่งที่พวกเขาประทับใจมาก คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (Singapore Art Museum – SAM) ที่รวบรวมผลงานศิลปะภายในประเทศสิงคโปร์ไว้มากกว่า 7,000 ชิ้น เป็นสถานที่ดูแลคลังศิลปะของสิงคโปร์ และยังเป็นคลังศิลปะในศตวรรษที่ 20 ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

“ที่นี่เราได้เห็นผลงานหลายชิ้นที่ไม่ค่อยคุ้นเคย มีผลงานของคนไทยด้วยที่โด่งดังถึงที่นี่ มันเป็นงานที่ร่วมสมัย ประมาณว่าเอาของเก่ามาทำใหม่ เป็นงานแปลกใหม่ดี คิดว่าได้อะไรเยอะเลย เพราะที่มหาวิทยาลัยมีวิชาหนึ่งต้องนำวัสดุอื่นๆ มาทำงาน มาเจองานที่นี่ก็ได้แรงบันดาลใจ” ปรุง – ผดุงพงษ์ กล่าว

ด้าน ดรีม – อารยา ยิ้มหวานแล้วบอกว่า “หนูชอบพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปะร่วมสมัยค่ะ หนูชอบที่เขาปั้นจากขี้เถ้าธูป เขาบอกว่ามันเหมือนเราเอาความหวังของคนๆ นั้นมาทำให้เป็นรูปร่าง ถ้าเราปล่อยทิ้งไปก็เหมือนเราทิ้งความหวังของคนๆ นั้นไป หนูชอบผลงานชิ้นนี้มากค่ะ”

นอกจากนั้นคณะเยาวชนยังได้เยี่ยมชม ไลบรารี่ แอท เอสพลานาด (Library@Esplanade) ห้องสมุดบูติคสาธารณะที่รวบรวมข้อมูลด้านศิลปะและการแสดงซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในโลก

แน่นอนว่ารางวัลที่พวกเขาได้รับและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการประกวดและบนเกาะสิงคโปร์นั้นเกิดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว ทว่า สำหรับวงการศิลปะไทยไม่ว่าจะวรรณศิลป์หรือทัศนศิลป์ เมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่เติบโตเป็นต้นกล้าเหล่านี้อาจงอกงามเป็นไม้ใหญ่ ให้ดอกผลงดงามและเป็นประโยชน์แก่วงการได้ แต่จะกี่มากน้อยคงต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องช่วยกันรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยธาตุอาหาร ดังที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในโครงการ ‘จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช’

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ทำให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตัวเองมากขึ้นนอกเหนือจากทำงานในสตูดิโอที่มหาวิทยาลัยหรือในห้องเรียน เอาสิ่งที่ได้เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากขึ้น”นี่คือบทสรุปของ ปรุง – ผดุงพงษ์ สารุโณ

Tags : <!– วรรณศิลป์ • –>วรรณศิลป์ • <!– ทัศนศิลป์ • –>ทัศนศิลป์ • <!– จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช–>จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช

 

                   ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – “ทัศนศิลป์” มรภ.โคราช จัดนิทรรศการผลงานศิลปกรรมครั้งที่ 13 ถึง 31 มี.ค.นี้ ณ หอศิลป์จินตนาการ เผยแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของ นศ.ปีสุดท้าย พร้อมผลงานศิษย์เก่า คณาจารย์ ศิลปินรับเชิญ และศิลปินแห่งชาติชื่อดังร่วม 100 ชิ้น
       
       วันนี้ (3 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ที่หอศิลป์จิตนาการ โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดงาน “นิทรรศการแสดงผลงานศิลปกรรมครั้งที่ 13 ประจำปีการศึกษา 2555” พร้อมเปิดให้ผู้สนใจ ทั้งเยาวชน นักศึกษา อาจารย์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้เข้าชมไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2556 นี้ หลังจาก พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด
       
       โดยภายในงานได้จัดแสดงผลงานศิลปกรรมของนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย ในรูปแบบผลงานศิลปนิพนธ์ และผลงานของนักศึกษาปัจจุบัน รวมทั้งศิษย์เก่า คณาจารย์โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ ศิลปินรับเชิญ และศิลปินแห่งชาติชื่อดังนับ 100 ชิ้นผลงาน นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยเทคนิค และวิธีการในด้านต่างๆ อีกมากมาย รวมถึงกิจกรรมการแสดงของนักศึกษา การแนะแนวการศึกษาต่อกับสาขาที่เกี่ยวข้องทางด้านทัศนศิลป์
       
       ผศ.ดร.สามารถ จับโจร ประธานโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ได้จัดทำโครงการนิทรรศการผลงานศิลปกรรมขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายได้แสดงผลงานวิชาการองค์ความรู้ด้านทัศนศิลป์ก่อนสำเร็จการศึกษา และเป็นการส่งเสริมศักยภาพสู่สาธารณชนให้รับรู้ รวมถึงเป็นการทำนุบำรุง และส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นสู่สังคมส่วนรวม และประเทศชาติ อันเป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งของการประเมินและวัดผลการศึกษาของหลักสูตรวิชาโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์
       
       รวมทั้งเป็นพันธกิจหลักของโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานทางด้านทัศนศิลป์ ด้วยทักษะ และแนวคิดที่เป็นแนวทางของตนเองด้วยเทคนิค และวิธีการสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น ประติมากรรม,จิตรกรรม, ศิลปะไทย, ภาพพิมพ์ และเทคนิคผสม เป็นต้น